วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

สมศ.ได้บรรจุค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการไว้ในการประเมินฯรอบสี่

 สมศ.ได้บรรจุค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการไว้ในการประเมินฯรอบสี่

วันนี้ (22 ก.ย.) ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงกรณีที่ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้ สมศ.กำหนดตัวบ่งชี้ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ ในการประเมินคุณภาพภายนอกว่า สมศ.ได้บรรจุค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการไว้ในตัวบ่งชี้ของการประเมินคุณภาพภายนอกอยู่แล้ว ตั้งแต่การประเมินฯรอบสาม ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในด้านคุณภาพศิษย์ ตัวบ่งชี้ที่ 1 ผู้เรียนเป็นคนดี โดยพิจารณาตัวผู้เรียนในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีน้ำใจไมตรี มีจิตอาสา และมีการพัฒนาคุณธรรมด้านต่างๆ เช่น วินัย สติ กตัญญู เมตตา อดทน ซื่อสัตย์ ประหยัด ขยัน ไม่เห็นแก่ตัว ผ่านการทำงาน ทำกิจกรรม และการบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งในการประเมินฯรอบสี่ สมศ.จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เข้มข้นมากขึ้น และจะกำหนดไว้ในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาเป็นครั้งแรกด้วย เพราะที่ผ่านมาใช้ประเมินแต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น
“หลัง จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ทาง สมศ.ได้นำเกณฑ์ และตัวบ่งชี้ของการประเมินคุณภาพภายนอกมาพิจารณาว่ายังขาดเรื่องใดบ้าง ซึ่งเราก็เติมลงไป โดยกระจายไปยังตัวบ่งชี้ต่างๆ จนครบทั้งหมดแล้ว เช่น ตัวบ่งชี้ที่ 4 ผู้เรียนมีทักษะชีวิต ใฝ่เรียนรู้ ตัวบ่งชี้ที่ 15 การส่งเสริมสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรม” ผอ.สมศ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการนำค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการมาบรรจุไว้ในตัวบ่งชี้การประเมินฯ จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กสำนึกในความเป็นคนดีมากขึ้น แต่จะได้ผลมากหรือน้อยคงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และสถาบันการศึกษา ซึ่งหากสถาบันการศึกษาพยายามส่งเสริม และกระตุ้นเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง รวมทั้งทำตลอดเวลา ไม่ใช่ทำแค่ฉาบฉวย หรือรอการประเมินฯ เท่านั้น ตนคิดว่าจะทำให้ได้ผลที่ดี และรวดเร็วมากขึ้น.
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น