วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

กระบวนการออกแบบและสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

กระบวนการออกแบบและสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
การออกแบบบทเรียน(Courseware Designing)
                1.  การวิเคราะห์หลักสูตรและเนื้อหา  เป็นขั้นตอนที่นับว่าสำคัญที่สุดของกระบวนการออกแบบบทเรียนช่วยสอนด้วยคอมพิวเตอร์ โดยการวิเคราะห์ความต้องการของหลักสูตรที่จะนำมาสร้างเป็นบทเรียน คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในส่วนของเนื้อหาบทเรียนจะได้มาจากการศึกษาและวิเคราะห์รายวิชาและเนื้อหาของหลักสูตร รวมไปถึงแผนการจัดการเรียนรู้ หนังสือเอกสารตำราที่ใช้ในการแต่ละกลุ่มสาระ หลังจากได้รายละเอียดของเนื้อหาที่ต้องการแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้
                                1.1.  นำมากำหนดวัตถุประสงค์ทั่วไป
                                1.2  จัดลำดับเนื้อหาให้มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน โดยการเขียน Network Diagram แสดงความสัมพันธ์ของเนื้อหา
                                1.3  เขียนหัวข้อเรื่องตามลำดับของเนื้อหา
                                1.4  เลือกหัวข้อเรื่องและเขียนหัวข้อย่อย
                                1.5  เลือกเรื่องที่จะนำมาสร้างบทเรียน แล้วนำมาแยกเป็นข้อย่อยจัดลำดับความต่อเนื่องและความสัมพันธ์ในหัวข้อย่อยของเนื้อหา
                2.  กำหนดวัตถุประสงค์ของบทเรียนหรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เป็นแนวทางที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในเชิงรูปธรรมหลังจากที่ศึกษาจากบทเรียนแล้ว วัตถุประสงค์หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของบทเรียน โดยปกติแล้วจะเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สามารถที่สามารถวัดได้หรือสังเกตได้ ว่าผู้เรียนแสดงพฤติกรรมอย่างไรออกมาในระหว่างการเรียนหรือหลังจากที่จบบทเรียนแล้ว เช่น อธิบายได้ แยกแยะได้ อ่านได้ เปรียบเทียบได้ วิเคราะห์ได้ บวกลบ คูณหารได้ เป็นต้น
                3.  การวิเคราะห์เนื้อหาและกิจกรรม  จะยึดตามวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเป็นหลัก โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้
                1. กำหนดเนื้อหา กิจกรรมการเรียนที่คาดหวังจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
                2.  เขียนเนื้อหาสั้นๆทุกหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
                3.  จัดลำดับเนื้อหา ได้แก่
                                -  บทนำ
                                -  ระดับของเนื้อหาและกิจกรรม
                                -  ความต่อเนื่องของเนื้อหาแต่ละบล็อกหรือเฟรม
                                -  ความยากง่ายของเนื้อหา
                                -  เลือกกำหนดสื่อที่จะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้
                4.  เขียนผังงาน (Layout Content) โดยมีลักษณะดังนี้
                                -  แสดงการเริ่มต้น และจุดจบของเนื้อหา
                                -  แสดงการเชื่อมต่อและความสัมพันธ์ของการเชื่อมโยงบทเรียน
                                -  แสดงปฏิสัมพันธ์ของเฟรมต่างๆของบทเรียน
                                -  แสดงเนื้อหาจะใช้แบบสาขาหรือแบบเชิงเส้น
                                -  การดำเนินบทเรียนและวิธีการเสนอเนื้อหาและกิจกรรม
                5.  การออกแบบจอภาพและแสดงผล ได้แก่
                                -  บทนำและวิธีการใช้โปรแกรม
                                -  การจัดเฟรมหรือแต่ละหน้าจอ
                                -  การให้ แสง  สี  เสียง  ภาพและกราฟิกต่างๆ
                                -  การพิจารณารูปแบบของตัวอักษร
                                -  การตอบสนองและการโต้ตอบ
                                -  การแสดงผลลงบนจอภาพและเครื่องพิมพ์
                6.  กำหนดความสัมพันธ์ได้แก่
                                -  ความสัมพันธ์ของเนื้อหา
                                -  กิจกรรมการเรียนการสอน
                4.  การกำหนดขอบข่ายบทเรียน  หมายถึง  การกำหนดความสัมพันธ์ของเนื้อหาแต่ละหัวข้อย่อย เพื่อระบุความสัมพันธ์จะได้ทราบถึงแนวทางขอบข่ายของบทเรียนที่ผู้เรียนจะเรียนต่อไป
                5.  การกำหนดวิธีการนำเสนอ  การเลือกรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาในแต่ละเฟรมว่าจะใช้วิธีการแบบใด โดยสรุปผลจากขั้นตอนที่ 3 และ 4 นำมากำหนดเป็นรูปแบบการนำเสนอ เช่น การจัดตำแหน่งและขนาดของเนื้อหา การออกแบบและแสดงภาพกราฟิกบนจอภาพ  การออกแบบเฟรมต่างๆของบทเรียน  การนำเสนอ  การวัดประเมินผล (แบบปรนัย  จับคู่  หรือเติมคำตอบ) เป็นต้น
               
                การสร้าง Storyboard ของบทเรียน
                Storyboard  หมายถึง  เรื่องราวของบทเรียนที่ประกอบด้วยเนื้อหาที่แบ่งเป็นเฟรมๆ ตามวัตถุประสงค์และรูปแบบการนำเสนอ โดยร่างเป็นแต่ละเฟรม เรียงตามลำดับตั้งแต่เฟรมที่ 1 จนถึงเฟรมสุดท้ายของแต่ละหัวข้อย่อย ซึ่งจะต้องระบุภาพที่ใช้ในการนำเสนอในแต่ละเฟรม เงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะของภาพ เสียงประกอบ ความสัมพันธ์ของเฟรมเนื้อหากับเฟรมอื่นๆของบทเรียน
                การสร้างบทเรียน (Courseware Construction)
                การสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนับว่ามีความสำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะได้เป็นผลงานออกมา ภายหลังที่ได้ทำตามขั้นตอนต่างๆแล้ว ในขั้นนี้จะดำเนินการตาม Storyboard ที่วางไว้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การออกแบบเฟรมเปล่าหน้าจอ การกำหนดสีที่จะใช้งานจริง รูปแบบของตัวอักษรที่จะใช้ ขนาดของตัวอักษร สีพื้นและสีตัวอักษร ข้อมูลที่จะแสดงบนจอ  สิ่งที่คาดหวังและการตอบสนอง  การสร้างภาพ  การสร้างเสียง  การสร้างเงื่อนไขบทเรียน เป็นต้น
                การตรวจสอบและประเมินผลก่อนนำไปใช้งาน
                1.  ตรวจสอบสื่อการสอนทุกชิ้น เช่น  คำแนะนำ  คำสั่ง  และคู่มือ เป็นต้น
                2.  ตรวจสอบจำนวนอุปกรณ์ประกอบครบในบทเรียนหรือไม่
                3.  ทดลองใช้สื่อนั้นดูว่าโปรแกรมทำงานเป็นปกติดีหรือไม่
                สรุปผลการประเมิน

                เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะนำข้อมูลจากการประเมินมาปรับปรุงบทเรียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และการใช้งานครั้งต่อไป ก่อนที่จะเผยแพร่บทเรียน จำเป็นต้องสร้างคู่มือการใช้งานของบทเรียนดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกของผู้ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น